9 ขั้นตอนวางแผนการเงิน กบข.

ขอชวนสมาชิก กบข. เริ่มต้นเดือนที่ 2 ของปี ด้วยบทความดี ๆ ในปี 2566 “9 ขั้นตอนการวางแผนการเงิน” เพื่อให้สมาชิกได้วางแผนการเงิน บริหารรายรับรายจ่ายให้เพียงพอและมีเงินเหลือออมหรือลงทุนมากขึ้น ลดหนี้ได้มากขึ้น ที่สำคัญช่วยเพิ่มโอกาสให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่ต้องการได้ เพื่อชีวิตที่ดีตลอดปีและตลอดไป

.

💡 ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสุขภาพการเงินของตนเอง

เรื่องนี้เป็นเรื่องพื้นฐานและเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการวางแผนทางการเงิน เพราะเราต้องรู้สถานะการเงินในปัจจุบันของเราก่อนว่า มีสินทรัพย์หลังหักหนี้สินแล้วมีมูลค่าเท่าไหร่ มีเงินออมเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน มีรูรั่วที่ไหนบ้าง โดยเริ่มต้นจากการสำรวจสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้เมื่อต้องการ หรือเป็นสินทรัพย์มีค่า เช่น เครื่องประดับ รถยนต์ บ้าน ที่ดิน ว่ามีมูลค่าปัจจุบันเป็นเท่าไหร่ นอกจากนี้มีหนี้สินอะไรอีกบ้าง และรวมกันแล้วเป็นมูลค่าเท่าไหร่ โดยเมื่อนำมูลค่าสินทรัพย์หารด้วยมูลค่าหนี้สินแล้วควรมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน

เมื่อสำรวจสินทรัพย์และหนี้สินแล้ว ลำดับต่อมาควรหารูรั่วทางการเงิน ด้วยการสำรวจรายรับรายจ่ายตลอดปีที่ผ่านมา ว่าเรามีรายได้มากกว่ารายจ่ายหรือไม่ มีเงินออมต่อเดือนเมื่อเทียบกับรายได้ต่อเดือนแล้วคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ หากอัตราการออมต่อเดือนน้อยกว่า 10% เราควรเร่งหาวิธีลดรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มอัตราการออมให้มากขึ้น

.

💡 ขั้นตอนที่ 2 ตั้งเป้าหมายการเงินให้ชัดเจน

การตั้งเป้าหมายทางการเงิน เปรียบเสมือนการเดินเรือที่ต้องมีเข็มทิศ ดังนั้นการดำเนินชีวิตควรต้องมีเป้าหมาย ยิ่งเป้าหมายที่ตั้งชัดเจนมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เราเดินทางไปสู่เป้าหมายนั้นได้ไม่ยาก ซึ่งหลักการตั้งเป้าหมายควรเป็นเป้าหมายที่ระบุชัดเจนว่าอยากได้อะไร อยากได้จำนวนเงินเท่าไหร่ มีโอกาสเป็นไปได้จริงหรือไม่ และมีเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน เช่น อยากมีเงินเก็บ 1 แสนบาทภายในเวลา 5 ปี เป็นต้น

หากเราตั้งเป้าหมายชัดเจน เราจะคำนวณได้ว่าควรวางแผนออมเงินหรือลงทุนเดือนละเท่าไหร่ เพื่อให้ได้เป้าหมายอย่างที่เราต้องการ จากตัวอย่างข้างต้น เราต้องออมเงินให้ได้เดือนละ 1,667 บาท (100,000 ÷ 60 เดือน = 1,667 บาท/เดือน) และหากเราวางแผนนำเงินออมต่อเดือนนี้ไปออมเงินให้ได้ดอกเบี้ยมากขึ้น หรือลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากขึ้นก็จะทำให้เราถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น หรือหากระยะเวลาเท่าเดิม ก็มีโอกาสทำให้ได้เงินมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ เป็นต้น

.

💡 ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบภาระหนี้และวางแผนลดหนี้

ตามที่กล่าวข้างต้น หากตรวจสุขภาพการเงินของตนเองแล้ว พบว่ามีหนี้สินเมื่อเทียบกับสินทรัพย์แล้วยังมีหนี้สินมากเกินไป แนะนำให้วางแผนลดหนี้ โดยเริ่มจากการทำบันทึกแจกแจงหนี้ที่มีออกมาทั้งหมด ว่าเรามีหนี้อะไรบ้าง หนี้แต่ละรายการมียอดคงค้างเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ ยอดที่ต้องชำระต่อเดือนเท่าไหร่ หลังจากนั้นแนะนำให้วางแผนด้วยการทยอยโปะหนี้ทีละรายการ โดยเริ่มจากหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อน เพื่อลดภาระการจ่ายดอกเบี้ย หรืออาจเริ่มด้วยการโปะหนี้ที่มียอดคงค้างน้อยก่อน เพื่อให้หนี้ก้อนนี้หมดเร็วขึ้นจะได้นำเงินที่ต้องจ่ายชำระหนี้ก้อนนี้ในแต่ละเดือนไปโปะหนี้ก้อนอื่นเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้หนี้โดยรวมหมดเร็วขึ้นได้ และที่สำคัญควรลดการก่อหนี้เพิ่มโดยไม่จำเป็น

.

💡 ขั้นตอนที่ 4 ทำบันทักรายรับรายจ่ายสม่ำเสมอและปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

หากเราทำบันทึกรายรับรายจ่ายเป็นประจำ สิ่งที่เราจะได้แน่ ๆ คือ เราจะได้เห็นว่าในแต่ละเดือนเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นหรือมากเกินความจำเป็นหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายอะไรที่สามารถปรับลดได้บ้าง เพื่อจะได้บริหารรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน ทำให้เรามีเงินเหลือออมนำเงินไปออมหรือลงทุนตามเป้าหมาย หรือนำเงินไปลดหนี้ได้ดั่งใจ ที่สำคัญการทำบันทึกรายรับรายจ่ายไม่ใช่แค่จดบันทึก แต่เราต้องหมั่นทบทวนรายการทั้งหมด วางแผนควบคุมรายจ่ายและปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น จึงจะเป็นประโยชน์ของการทำบันทึกรายรับรายจ่ายที่แท้จริง

.

💡 ขั้นตอนที่ 5 ตั้งงบคุมค่าใช้จ่ายรายวันหรือรายเดือน

เมื่อเรามองเห็นภาพการใช้จ่ายของเราในแต่ละเดือนจากการทำบันทึกรายรับรายจ่ายแล้ว ที่สำคัญควรนำมาทบทวนและตั้งงบประมาณการใช้จ่ายในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนของเรา เพื่อควบคุมให้เราไม่ใช้เงินมากเกินไปและเพื่อมีเงินออมตามเป้าหมายที่ต้องการหรือลดหนี้ตามที่ตั้งใจ เช่น รายรับเดือนละ 25,000 บาท หักเงินออมขั้นต่ำต่อเดือน 5,000 บาท มีรายจ่ายจำเป็นรวมภาระหนี้เดือนละ 8,000 บาท ดังนั้นเรามีเงินสำหรับใช้จ่าย 12,000 บาทต่อเดือน (25,000-5,000-8,000 = 12,000) หรือมีงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในแต่ละวัน 400 บาท (12,000÷30) ถ้าวันใดใช้เหลือก็หยอดกระปุกเก็บไว้ วันใดจำเป็นต้องใช้เกินกว่า 400 บาท ก็หยิบเงินในกระปุกออกมาใช้ชดเชยได้ ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่การใส่ใจเรื่องเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ ก็ทำให้หลายคนสามารถปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเองได้จากที่ไม่เคยมีเงินออมกลับมามีเงินออมได้

.

💡 ขั้นตอนที่ 6 เลือกวิธีออมเงินและลงทุนให้เหมาะกับตนเอง

เมื่อเราสามารถบริหารรายรับรายจ่ายที่ทำให้เรามีเงินออมมากขึ้นแล้ว หากเราศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ มากขึ้น ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการได้รับดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้น นอกจากนี้หากเราศึกษาการลงทุนมากขึ้น แม้การลงทุนจะมาพร้อมกับความความเสี่ยง แต่หากเป็นการออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาว การออมเงินเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เงินงอกเงยไม่ทันเงินเฟ้อ หรือทำให้มูลค่าของเงินโตไม่ทันกับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ดังนั้น ควรศึกษาเรื่องการลงทุนและเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเองก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายระยะยาวเพื่อเกษียณ

.

💡 ขั้นตอนที่ 7 วางแผนประกันชีวิตและสุขภาพ

สำหรับสมาชิก กบข. ได้รับสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิ์ของข้าราชการอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้อย่าลืมประเมินความเสี่ยงของตนเองโดยดูจากประวัติสุขภาพของคนในครอบครัว หรือประเมินจากสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ในปัจจุบันว่าเรามีความเสี่ยงอะไรบ้าง มีสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลวงเงินเท่าไหร่ เพียงพอกับความต้องการหรือไม่ เช่น ต้องการลดความเสี่ยงจากค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายแรง แม้โอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อยแต่โรคเหล่านี้ไม่มีใครคาดเดาได้ และที่สำคัญค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี หากสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลที่เรามีไม่เพียงพอ อาจพิจารณาทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม เป็นต้น

.

💡 ขั้นตอนที่ 8 วางแผนภาษี

ขั้นตอนนี้เหมาะกับสมาชิกที่มีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูง หรือมีรายได้สูง หากวางแผนภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เราใช้สิทธิ์ลดหย่อนที่มีได้อย่างถูกต้อง และช่วยประหยัดภาษีได้มากขึ้น ซึ่งบางสิทธิ์อาจต้องแลกกับการจ่ายเงินออกไปก่อนหรือย้ายที่เก็บเงิน เช่น การทำประกันชีวิตและสุขภาพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ ออมเพิ่มกับ กบข. มากขึ้น ซึ่งได้ทั้งเงินออมและยังลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นอีกด้วย

.

💡 ขั้นตอนที่ 9 ทบทวนเป้าหมายสม่ำเสมอ

การวางแผนการเงินรวมถึงการตั้งเป้าหมายต่าง ๆ เป็นการวางแผนล่วงหน้า ดังนั้นหากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เราควรมีแผนสำรองหรือปรับเปลี่ยนแผนได้ทันเวลา เราจึงมีการทบทวนแผนการเงินของตนเองสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

.

จาก 9 ขั้นตอนการวางแผนการเงิน สมาชิก กบข. สามารถใช้เครื่องมือวางแผนการเงิน ใน My GPF Application ซึ่งประกอบด้วย 5 เมนู คือ ตรวจสุขภาพการเงิน วางแผนออมเงินเพื่อเป้าหมาย วางแผนสินเชื่อและลดหนี้ วางแผนประกันชีวิตและสุขภาพ และวางแผนภาษี เป็นตัวช่วยที่จะทำให้สมาชิก กบข. วางแผนการเงินของตนเองได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม หรือปรึกษาเรื่องการใช้งานของเครื่องมือวางแผนการเงิน สามารถนัดหมายศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินได้ที่ My GPF Application เมนู “นัดหมายที่ปรึกษาทางการเงิน”

.

ขอบคุณข้อมูลจากคอลัมน์ Money Buddy วารสาร กบข.