ปลดล็อก ltv : อสังหาฯขานรับแบงก์ชาติปลดล็อก LTV 100% ศูนย์ข้อมูลฯเปิดสถิติบ้าน-คอนโดฯเหลือขายทั่วประเทศ ณ ครึ่งปีแรก 2564 รวม 1.25 ล้านล้านบาท
เปิดโพยท็อป 10 บิ๊กแบรนด์มีสต๊อกเหลือขายคามือ 7.4 หมื่นหน่วย มูลค่ารวม 3.38 แสนล้าน “พฤกษาฯ” ฟันธงภาพรวมกระตุ้นยอด 2 เดือนสุดท้าย 20% จี้รัฐต่ออายุลดค่าโอน-จำนอง ตั้งหน่วยค้ำประกันสินเชื่อแก้ปัญหากู้ไม่ผ่าน อุ้มดีมานด์ตลาดแมสราคาต่ำ 3 ล้าน/หลัง
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ผ่อนคลายมาตรการ LTV-loan to value ชั่วคราว จากเดิมมีเกณฑ์ LTV หรือเกณฑ์ปล่อยกู้ได้ 70-95% จากราคาซื้อขายในสัญญา ผ่อนปรนเกณฑ์ LTV 100% มีผลบัดนี้-31 ธันวาคม 2565 เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงานในเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์ 2.8 ล้านคน มีสัดส่วน 10% จีดีพี คาดว่าจะช่วยสร้างเม็ดเงินจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารพาณิชย์ 5 หมื่นล้านบาท และหนุนการเติบโตภาคอสังหาฯ 7% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมียอดซื้อขาย 8 แสนล้านบาท โดยจะเห็นภาคอสังหาฯกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น จากเดิมประเมินว่าจะฟื้นตัวปี 2568
“ ปลดล็อก ltv เราผ่อนคลาย LTV โดยให้แบงก์ปล่อยสินเชื่อได้ 100% จากเดิมที่เคยให้เฉลี่ย 70-90% โดยผ่อนคลายทุกราคาบ้าน และอาจไม่ต้องวางเงินดาวน์เลย แต่ขึ้นอยู่กับแบงก์พิจารณา เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วน K ขาบนให้ตัดสินใจซื้อเร็วขึ้นช่วย K ขาล่าง โดยผ่อนคลายชั่วคราวถึงสิ้นปีหน้าสอดคล้องกับมาตรการภาครัฐที่จะทำ โดยเราจะติดตามสัญญาณเก็งกำไร ราคาบ้าน และหนี้เสียอย่างใกล้ชิด”
ttb มองกระตุ้น “บ้านแพง”
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า มาตรการผ่อนปรน LTV ชั่วคราวถึงสิ้นปี 2565 ส่งสัญญาณกระตุ้นกำลังซื้อบ้านราคาสูงมากกว่า ปัจจุบันสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีลูกหนี้พักชำระหนี้ 10% จากทั้งระบบ แม้ผ่อนคลาย LTV แต่เชื่อว่าระบบแบงก์คงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ ลูกค้าทุกรายคงไม่ได้ LTV ที่ 100% หมดทุกราย ยกเว้นลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ
“มาตรการผ่อนคลายรอบนี้จะช่วยคนรายได้ไม่สูงมีบ้านไหม ก็ไม่เชิง เพราะเดิมบ้านหลังแรกราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท LTV ได้ 100% อยู่แล้ว ครั้งนี้เรื่องใหม่ปรับ LTV บ้านราคาเกิน 10 ล้านบาท กับสัญญาที่ 2 ที่ 3 ขึ้นมาเป็น 100% ส่วนบ้านราคาต่ำ 10 ล้านบาทถือว่าไม่ได้ผ่อนคลายขึ้นในทางปฏิบัติ”
และปีนี้ LTV ที่ผ่อนคลายคงไม่ได้เปลี่ยนเกมตลาดอสังหาริมทรัพย์มากนัก เนื่องจากเหลือ 2 เดือนสุดท้าย ปัจจัยบวกจะส่งผลให้เห็นในปี 2565 คาดว่าช่วยให้ตลาดฟื้นตัวดีขึ้น แต่จุดโฟกัสยังเน้นที่บ้านราคาแพง และเจาะกลุ่มลูกค้าความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก
ส่วนการเก็งกำไรจะกลับมาเพิ่มขึ้นหรือไม่มองว่าสถานการณ์โควิดถ้าจะกู้แบงก์มาซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อเก็งกำไรคงมีน้อย เพราะปกติเก็งกำไรจะอยู่ที่ตลาดคอนโดมิเนียม แต่การปล่อยเช่าคอนโดฯปัจจุบันมีผลตอบแทนลงทุนต่ำเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝาก ผู้เช่าต่างชาติลดลงมาก จึงไม่น่าจูงใจให้เก็งกำไรนัก
ทั้งช่วงที่ผ่านมาตลาดที่อยู่อาศัยเปลี่ยนจากการเปิดขายคอนโดฯ ในสัดส่วนสูงมาเปิดขายบ้านแนวราบในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยระยะเวลาก่อสร้างคอนโดฯนาน 2-3 ปี เทียบกับบ้านแนวราบสร้างไปขายไปได้ ก่อสร้างและโอนให้จบในปีเดียวกันได้
“การผ่อนปรน LTV ครั้งนี้กระตุ้นบ้านแนวราบมากกว่า ทำเลก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเมือง โดยจะเห็นว่าแบงก์ชาติออกมาตรการรวมกรณีการรีไฟแนนซ์ด้วย ดังนั้นตลาดการต่อเติมปรับปรุงบ้านจะคึกคักขึ้น ทำให้การกระจายตัวของการจ้างงาน เม็ดเงินลงทุนกระจายไปได้ทั่วถึง ซึ่ง LTV เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเงินที่พยายามซัพพอร์ตการกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการปลดล็อกพวกกู้ต่อเติม เติมสภาพคล่องด้วย ไม่ใช่กู้ซื้อบ้านใหม่ตรง ๆ อย่างเดียว” นายนริศกล่าว
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า การผ่อนปรน LTV ทำให้คนที่จะกู้ซื้อบ้านไม่ต้องควักเงินออมออกมา กระตุ้นให้คนมาซื้อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น โดย LTV จะเป็นตัวเสริมมาตรการลดค่าโอน-จำนอง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2564 เพราะคนที่เคยยื่นกู้ไว้แต่ติดเกณฑ์ LTV กู้ได้ไม่ถึง 100% ก่อนหน้านี้จะมีโอกาสกู้ได้เพราะมีวงเงินกู้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยกระทบสำหรับคนมีกำลังซื้ออ่อนแอ รายได้ที่นำมาคำนวณในการกำหนดวงเงินผ่อนชำระและวงเงินสินเชื่ออาจไม่ได้ 100% ก็ได้ บวกกับหนี้ครัวเรือนในอัตราสูงและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน เกณฑ์ธนาคารที่ยังมีมาตรฐานสูงทำให้การปล่อยสินเชื่อมีข้อจำกัดจนถึงสิ้นปี 2564 นี้
“ผมตีความว่าเป้าหมายผ่อนปรน LTV เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 มากกว่า ปีนี้อาจทำให้ดีขึ้นบ้าง แต่จะดีกว่านี้รอดูการทบทวนมาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง หรือเปิดทางให้กลุ่มบ้านมือสองเข้าร่วมด้วยหรือไม่ 2 เดือนสุดท้ายปีนี้เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจน เพราะกำลังซื้อคนยังอ่อนแอ”
สถิติครึ่งปีแรก 2564 มียอดขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ 45,895 หน่วย มูลค่า 195,803 ล้านบาท สินค้าขายดีอยู่ในราคา 2-5 ล้านบาท มีจำนวน 32,300 หน่วย มีสต๊อกเหลือขายทั้งบ้านและคอนโดฯ 176,000 หน่วย เพราะเป็นกลุ่มกำลังซื้อของคนไทยส่วนใหญ่
นอกจากนี้แนวโน้มเป็นโอกาสในการระบายสต๊อก ผู้ประกอบการต้องแข่งขันจัดโปรโมชั่นชูจุดขายลดค่าโอน-จำนอง บวกกับกู้ได้ 100% แต่ก็มีผลเฉพาะราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับการผ่อนปรน LTV ให้กู้ได้ทุกราคา ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาต่ออายุลดค่าโอน-จำนองโดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์สำหรับการซื้อบ้านทุกราคา แต่ให้ได้ส่วนลดเพียง 3 ล้านบาทแรก
สำหรับสถิติที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรทั่วประเทศ ณ ครึ่งปีแรก 2564 มีซัพพลาย 1,446,276 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านจัดสรร 916,364 ล้านบาท เหลือขาย 792,145 ล้านบาท และคอนโดฯ 529,912 ล้านบาท เหลือขาย 458,328 ล้านบาท รวมเป็นซัพพลายเหลือขาย 1,250,473 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)
ในจำนวนนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯสำรวจพบว่าบิ๊กแบรนด์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 10 รายแรกที่มีซัพพลายเหลือขายมากสุด ได้แก่ พฤกษา เรียลเอสเตท, ศุภาลัย, เอพี (ไทยแลนด์), แสนสิริ, ลลิล พร็อพเพอร์ตี้, เพอร์เฟค, ออริจิ้นฯ, JSP, ควอลิตี้เฮ้าส์ และ LPN มีจำนวนหน่วยเหลือขายรวมกัน 74,480 ล้านบาท มูลค่าเหลือขายรวมกัน 338,981 ล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)
นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทยและสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การผ่อนคลาย LTV ครั้งนี้ช่วยตลาดอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามธนาคารมีความเข้มงวดมากในการพิจารณาปล่อย สินเชื่อซื้อบ้านและคอนโดฯ ฉะนั้นคงไม่กระตุ้นการซื้อได้ทันที
โดยมีข้อเสนอเพิ่มเติมเป็นแพ็กเกจให้รัฐบาลพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการลดค่าโอน-จำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% หรือค่าใช้จ่ายล้านละ 3 หมื่น เหลือล้านละ 300 บาท จะหมดอายุมาตรการปลายธันวาคม 2564 มีข้อจำกัดคือกำหนดเพดานราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท มีข้อเสนอคือ 1.ขอให้มีการขยายอายุมาตรการใช้อีก 1-2 ปี 2.ปรับสิทธิประโยชน์สำหรับโอน-จดจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาทแรก หรือ 3.ขยายเพดานขึ้นมาเป็น 5 ล้านบาท เพื่อรองรับโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565
“หวังว่าการผ่อนคลาย LTV และลดค่าโอน-จดจำนองจะกระตุ้นการซื้อที่อยู่อาศัยในปีหน้า ปีนี้เหลืออยู่แค่ 2 เดือนกว่าคงช่วยได้ระดับหนึ่งแต่ไม่เยอะเพราะโควิดไม่ค่อยดี แบงก์เข้มงวดสินเชื่อ”
ส่วนผลตอบรับการผ่อนคลาย LTV จะทำให้ผู้ประกอบการลงทุนเปิดโครงการมากขึ้นหรือไม่ นายอธิปกล่าวว่า ปีนี้เหลือ 2 เดือน ผู้ประกอบการคงต้องดูดซับอินเวนทอรี่ก่อนโดยธรรมชาติ เพราะธนาคารที่จะปล่อยโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ใหม่ (เงินกู้พัฒนาโครงการ) ก็คงไม่ต้องการให้มีการเติมซัพพลายเพิ่มในขณะที่สินค้าในมือยังเหลือจำนวนมาก
“แบงก์ต้องดูโดยรวมว่า absorption rate อัตราการซื้อของลูกค้าเป็นอย่างไร เป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดี ๆ จะเปิดโครงการใหม่ทั้ง ๆ ที่ของเก่ายังเหลือซึ่งยอดขายต่อเดือนก็ไม่ได้มาก คงไม่ถึงขนาดต้องรีบเปิดโครงการ แต่ในกรณีที่สินค้าหมดแล้ว หรือยอดขายในตลาดเริ่มดีขึ้นก็คงดูได้ในต้นปีหน้า”
ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การผ่อนปรน LTV กระตุ้นผู้ซื้อเป็นเรื่องที่ดีแน่นอนเพราะที่ผ่านมามีอุปสรรค 2 เรื่อง 1.ยุคก่อนโควิดก็มีการขายได้น้อยลงอยู่แล้ว 2.ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงมากช่วงปี 2562-2564 จากการควบคุมของแบงก์ชาติ และมาตรการพิจารณาสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์ เป็น double guard ต่างคนต่างสร้างอุปสรรคขึ้นมาควบคุมหนี้
ดังนั้นเมื่อแบงก์ชาติผ่อนปรน LTV จึงเหลือเรื่องเดียวคือแบงก์พาณิชย์ยังคงตั้งการ์ดสูงอยู่หรือเปล่าในการพิจารณา credit scoring ในการขอสินเชื่อลูกค้ารายย่อย (โพสต์ไฟแนนซ์) และลูกค้าโครงการ (พรีไฟแนนซ์)
“ต้องขอบคุณแบงก์ชาติ เพราะถือเป็นการให้ยาถูกเวลา ถ้ารอให้ผู้ซื้อหายไปหมดก็ไม่มีประโยชน์ ทำให้เทรนด์อสังหาฯ ปี 2565 สดใสขึ้น บวกกับรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเรื่องความเป็นอยู่ประชาชน ดูแลการทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายเล็กรายกลาง รวมกันน่าจะเป็นกำลังซื้อที่ดีขึ้น ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยก็จะสดใสขึ้น แต่คงตอบไม่ได้ว่าจะเพิ่มเท่าไหร่ เพราะยอดขายลดลง -10% ถึง -30%
นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยระบายสต๊อก เพราะมีการผ่อนปรนการขอสินเชื่อซื้อบ้านหลังที่ 2 ทำให้คนที่ออกมาทำงานนอกบ้าน แล้วจำเป็นต้องมีบ้านหลังที่ 2 ใกล้ที่ทำงานมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ หรืออาจซื้อให้ลูกหรือซื้อไว้เป็นทรัพย์สิน เพราะเงินฝากแบงก์ดอกเบี้ยต่ำมาก การรับประกันเงินฝากก็เหลือแค่ 1 ล้านบาทคนจึงมองหาและเปลี่ยนวิธีบริหารเงินออม
ส่วนการผ่อนปรน LTV จะทำให้ดีเวลอปเปอร์เร่งเปิดโครงการใหม่หรือไม่นั้น มองว่าคงไม่ได้เร่ง เพียงแต่โปรเจ็กต์ที่เคยชะลอไว้อาจกลับมาทบทวน ซึ่งก็เข้าใจว่าทุกคนมีข้อมูลพอสมควรในการตัดสินใจลงทุน คงไม่ได้ผลีผลาม เพราะอสังหาฯต้องใช้เงินเยอะ ไม่ใช่ธุรกิจที่มีมือเปล่าแล้วจะทำได้ และทุกคนก็มีสต๊อก รวมถึงมีโครงการที่ยังไม่ได้สร้างแล้วเตรียมที่จะสร้าง
นายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การผ่อนปรน LTV แก้ปัญหาได้หลายจุดและตรงจุด คือ1.ผู้กู้ร่วม ซึ่งภายหลังซื้อบ้านของตัวเองแต่การขอสินเชื่อนับเป็นซื้อบ้านหลังที่ 2 ซึ่งได้ปลดล็อกชั่วคราว 2.การซื้อบ้านหลังที่ 2 กรณีซื้อให้ลูกหรือซื้อหลังใหม่แต่ยังขายหลังเก่าไม่ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้กู้ด้วย เพราะธนาคารยังพิจารณาสินเชื่ออย่างละเอียดเหมือนเดิม
“พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่ดีขึ้น การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น ทุกคนก็เลยหวังกับไตรมาส 4/64 ว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ยิ่งแบงก์ชาติผ่อนปรน LTV ยิ่งกระตุ้นคนที่กำลังลังเลหรือติดเงื่อนไขบางอย่าง ทำให้ซื้อบ้านได้ง่ายขึ้น คิดว่า 2 เดือนสุดท้ายตลาดจะคึกคักขึ้น ส่วนปี 2565 ถ้าไม่มีระบาดรอบต่อไปจนถึงล็อกดาวน์ เศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น”
ส่วนผู้ประกอบการจะเร่งเปิดโครงการใหม่หรือไม่นั้น คิดว่าทุกคนมีแผนพัฒนาและชะลอแผนไว้ การเปิดโครงการใหม่ยังมีเวลา ถ้าบรรยากาศที่ดีเริ่มกลับมา คงเริ่มต้นทำโปรโมชั่นระบายสต๊อกที่มีอยู่ในมือก่อน ถ้าไปได้ดีโครงการใหม่ก็คงตามมา โดยเฉพาะบ้านแนวราบที่มี flexibility มากกว่าแนวสูงหรือคอนโดฯ
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอพีมองว่าเป็นสัญญาณบวกให้กับตลาด ทำให้ภาพรวมอสังหาฯฟื้นตัวเร็วขึ้นเพราะเพิ่มความสามารถในการซื้อให้ลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งภาคอสังหาฯมีสัดส่วน 9.8% ของจีดีพี จึงเป็นอีกคีย์ไดรฟ์สำคัญในการช่วยขับเคลื่อน GDP ประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงานจะเป็นการนำมาสู่โอกาสที่ดีอีกมากตั้งแต่ไตรมาส 4/64 และปี 2565
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผล กระทบ LTV ทำให้ยอดขายอสังหาฯ ปี 2562-2563 หายไปเฉลี่ยปีละ 30% เมื่อมีการผ่อนปรน LTV ชั่วคราวไตรมาส 4/64 ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อกลับมาได้ 20% โดยอาจมีกำลังซื้อต่างชาติด้วยบางส่วน
“จากการสกรีนลูกค้าพบว่าบางคนมีศักยภาพในการผ่อนแต่ไม่มีเงินสดมาวางดาวน์ 5-10% ซึ่งกลุ่มราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทเป็น portion ใหญ่เซ็กเมนต์ที่เวิร์กคือเรียลดีมานด์ 2-5 ล้านบาท ยอดขายพฤกษาฯ 60-70% เป็นกลุ่มนี้ โดยเฉพาะคอนโดฯ และทาวน์เฮาส์”
นายปิยะกล่าวด้วยว่า ในเชิงจิตวิทยานักลงทุนที่ไม่สะดวกใช้เงินสดอาจกลับมาบางส่วนเพื่อซื้อลงทุนปล่อยเช่ารับตลาดผู้เช่าชาวต่างชาติ การผ่อนปรน LTV จึงช่วยตรงจุด ส่วนเทรนด์ปี 2565 คาดว่าโต 10% ขึ้นไป จากปัจจัยบวก 3 เรื่อง คือ เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น ต่างชาติกลับเข้ามาได้มากขึ้น และการผ่อนปรน LTV ชั่วคราว
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยว่า การปลดล็อก LTV ทำให้ผู้ซื้อมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น แทนที่จะต้องมีเงินก้อนวางดาวน์ 10-30% ก็ไม่ต้อง โดยมีสินค้าพร้อมอยู่พร้อมโอน 750,000 ล้านบาทในตลาด เป็นคอนโดฯ 300,000 ล้านบาท แนวราบ 450,000 ล้านบาท ในส่วน LPN มีสินค้าพร้อมโอน 8,000 ล้านบาท น่าจะได้ประโยชน์จากมาตรการนี้
อย่างไรก็ตามควรมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อ จากปัจจุบันมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 40-50% ภาครัฐควรพิจารณาสร้างเครื่องมือช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ เช่น การค้ำประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โมเดลเหมือนบรรษัทประกันสินเชื่อเพื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)ช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้เอสเอ็มอี
“ถ้าภาครัฐมีหน่วยงานรูปแบบนี้มาค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกู้เงินง่ายขึ้น ก็จะกระตุ้นกำลังซื้อภาคอสังหาฯให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไป”
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ สถานการณ์โควิดทุเลาลง ภาวะเงินเฟ้อในประเทศไม่รุนแรง การผ่อนปรนเกณฑ์มาตรการ LTV จะช่วยหนุนให้ตลาดที่อยู่อาศัยทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศตลอดช่วงเวลาของมาตรการ จะเพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้คิดเป็นมูลค่าราว 18,000-30,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการ
ขณะเดียวกันคาดว่า การผ่อนคลายมาตรการ LTV จะทำให้สินเชื่อบ้านปี 2565 มีโอกาสเติบโตเพิ่มเติมได้ประมาณ 0.3-0.7% ไปอยู่กรอบ 4.8-5.2% สูงขึ้นกว่ากรอบคาดการณ์ปี 2564 ที่ 4.2-4.5%
ขอบคุณที่มาจาก prachachat
อ่านข่าวสารอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่ Blog ของเรา คลิก Home Connect